Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ที่งานรังสีเทคนิค ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเปรียบเทียบกับค่าปริมาณรังสีอ้างอิงมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และการศึกษาอื่น ๆ วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงการสังเกตเชิงพรรณนา ในผู้ป่วยอายุ 18-70 ปี น้ำหนักอยู่ในช่วง 60 ± 15 กิโลกรัม ที่เข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล SAMSUNG รุ่น XGEO GC80 เก็บข้อมูลทั่วไป และพารามิเตอร์ทางเทคนิคประกอบด้วย เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ความหนาทรวงอก ค่าความต่างศักย์สูงสุด ค่ากระแสหลอดคูณเวลาในผู้ป่วย 304 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 ประเมินค่าปริมาณรังสีที่ผิวหนังจากการคำนวณตามสูตรที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องแนะนำ ใช้ค่ามัธยฐาน และควอไทล์ที่ 3 ของค่าปริมาณรังสีที่คำนวณได้เปรียบเทียบกับระดับปริมาณรังสีอ้างอิงของหน่วยงานระดับชาติ นานาชาติ และการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องผลการศึกษา: ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอก มีค่ามัธยฐาน และควอไทล์ที่ 3 เท่ากับ 0.13 และ 0.15 มิลลิเกรย์ ตามลำดับ ค่ากระแสหลอดคูณเวลาเฉลี่ยสำหรับเทคนิค AEC และ manual 2.89, 3.43 mAs ตามลำดับ ทั้ง 2 เทคนิคใช้ค่าความต่างศักย์สูงสุดเท่ากัน 110 kVp ค่ากระแสหลอดคูณเวลาอยู่ในช่วง 1.9-6 mAs ขึ้นอยู่กับเทคนิค และความหนาผู้ป่วยสรุป: ค่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ต่ำกว่าระดับปริมาณรังสีอ้างอิงของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และการศึกษาอื่นๆ ผลการศึกษานำไปสู่การพัฒนาปรับค่าความต่างศักย์สูงสุด และค่ากระแสหลอดคูณเวลาที่เหมาะสมให้ปริมาณรังสีอยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามคุณภาพของภาพจะต้องเพียงพอให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวินิจฉัยทางคลินิก

Full Text
Published version (Free)

Talk to us

Join us for a 30 min session where you can share your feedback and ask us any queries you have

Schedule a call