Abstract

บทนำ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อจำกัดในการให้บริการทางสุขภาพของบุคลากรทางการพยาบาลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการให้บริการผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผู้ป่วยเพื่อการรักษาที่เร่งด่วนและเป็นด่านหน้าของโรงพยาบาลในการให้บริการ จึงส่งผลให้เกิดความเครียดในงานได้ง่าย นอกจากนี้ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องยังอาจร่วมกันส่งผลกระทบต่อระดับความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น มีผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานตลอดจนคุณภาพการให้บริการผู้ป่วย วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาระดับความเครียดและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของบุคลากร ทางการพยาบาลที่ห้องฉุกเฉินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การออกแบบวิจัย การวิจัยแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ วิธีการดำเนินการวิจัย การศึกษาครั้งนี้ศึกษาในประชากรพยาบาลวิชาชีพและผู้ช่วยพยาบาลที่ปฏิบัติงาน ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 118 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่าง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยการตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่สร้างขึ้นโดยผู้วิจัยจากการทบทวนวรรณกรรมและ 3) แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 1 และตรวจสอบความเชื่อมั่นในผู้ที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค .93 และ .96 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสหสัมพันธ์สเปียร์แมน ผลการวิจัย บุคลากรทางการพยาบาลที่ห้องฉุกเฉินจำนวน 118 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 90.7) อายุเฉลี่ย 30.34 ปี (SD = 7.03) ตำแหน่งงานพยาบาล (ร้อยละ 58.5) สถานภาพโสด (ร้อยละ 79.7) ค่ามัธยฐาน ของประสบการณ์การทำงานที่แผนกฉุกเฉิน 5.5 ปี ค่ามัธยฐานของรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท ประมาณครึ่งหนึ่ง มีรายได้ไม่เพียงพอ (ร้อยละ 50.8) มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์อยู่ในช่วง 41-49 ชั่วโมง (ร้อยละ 71.2) และ ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ค่าเฉลี่ยความเครียดของบุคลากรทางการพยาบาลที่ห้องฉุกเฉินอยู่ในระดับความเครียดรุนแรง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลง สถานการณ์การทำงานและระบบงาน (r=.533, p<.001) ความกลัวการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายเชื้อ (r=.408, p<.001) ปัญหาเศรษฐกิจจากรายได้ที่ลดลง (r=.431, p<.001) การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน (r=.401, p<.001) ความบีบคั้นทางจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 (r=.595, p<.001) การเปลี่ยนแปลงชีวิตวิถีใหม่ (r=.527, p<.001) และการสื่อสารและการประสานงาน (r=.587, p<.001) ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลให้กับผู้บริหารในการพัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยบุคลากรทางการพยาบาลในห้องฉุกเฉินสามารถปฏิบัติงานท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

Full Text
Published version (Free)

Talk to us

Join us for a 30 min session where you can share your feedback and ask us any queries you have

Schedule a call